น้ำหนักสร้างรูปทรง

         "สาระสำคัญของการวาดภาพ คือการบรรจุน้ำหนัก อ่อน-แก่ของแสง-เงาในธรรมชาติลงในกระดาษ" ความยากอยู่ที่น้ำหนักในธรรมชาติ มีความละเอียดอ่อน และสลับซับซ้อน

         ในสายตาของจิตรกรมือใหม่อาจไม่คุ้นเคย หรืออาจมองข้ามความเป็นจริงที่ตาเห็นหากมองวัตถุนั้นเพียงเพื่อจะค้นหาแต่เพียงรูปทรงภาพนอกของมัน

         ให้เวลากับการมองอีกนิด ค่อย ๆ หรี่ตาลงเล็กน้อยก็จะพบว่า ต้นไม้ที่อยู่เบื้องหน้าเกิดเป็นรูปทรงได้ เพราะน้ำหนักอ่อน-แก่ที่ว่า ใบไม้พับแสนใบจะรวบตัวกันเข้าเป็นกลุ่มของน้ำหนัก ฟุ้งอยู่บรรยากาศด้วยแสงแดด

          โดยธรรมชาติใบไม้ได้งอกออกมาจากกิ่งของมันทีละใบ หรือหลายใบพร้อม ๆ กัน จากใบอ่อนสู่ใบแก่ แต่ถ้าเราเขียนภาพต้นไม้จะเขียนทีละใบอย่างที่ต้นไม้มันให้กำเนิดใบของมันไม่ได้ ผู้ที่ไม่เข้าใจข้อนี้จะเขียนภาพด้วยวิธีเก็บทีละส่วน ทีละใบ ทีละกิ่ง นั่นเป็นวิธีที่เกิดจากการมองหารูปทรงของวัตถุทีละส่วน ซึ่งไม่ใช่การเริ่มต้นที่ดี

         เมื่อมองต้นไม้ เราต้องเห็นทั้งหมด ในกรอบสายตาที่จะนำต้นไม้เบื้องหน้ามาจัดวางในแผ่นกระดาษ เพื่อจะถ่ายทอดสิ่งที่เห็นด้วยการวาด เราต้องมองมันทั้งหมด เห็นทุกสิ่งพร้อมกันในกรอบสายตานั้น ไม่ใช่พินิจอยู่ที่ส่วนใดส่วนอนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

         เมื่อลงมือวาด เราจึงบรรจงถ่ายทอดน้ำหนักนั้นตามที่ตาเห็นโดยไม่คอยคำนึงถึงแต่รูปร่างของมัน ให้น้ำหนักอ่อน-แก่นั้นถูกบรรจุลงในตำแหน่งที่ถูกต้องของภาพ รูปทรงของต้นไม้ก็จะค่อย ๆ ปรากฎขึ้น

         นี่คือวิธีที่จะทำให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ในการเขียนภาพ และความเข้าใจในเรื่องอื่น ๆ ก็จะตามมา เช่นความเข้าใจในเรื่องอื่น ๆ ก็จะตามมา เช่นความเข้าใจเรื่ององค์ประกอบ เรื่องสี บรรยากาศ ความเป็นเอกภาพ และสิ่งสำคัญอื่น ๆ

         จิตรกรคือนักปฏิบัติ การได้ลงมือทำเท่านั้นที่จะนำไปสู่ความเข้าใจที่แท้จริง ในการฝึกฝนเบื้องต้น ดินสอ EE กับกระดาษปรู๊ฟ ดูเป็นของคู่กัน ยังเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะสมและน่าใช้

         ร่างภาพของเราด้วยสัมผัสอันแผ่วเบา วางองค์ประกอบของภาพให้เหมาะสม จนรู้สึกเป็นที่พอใจ แล้วเริ่มต้นระบายน้ำหนักแรกที่อ่อนที่สุดก่อน คือน้ำหนักของแสง แล้วตามด้วยน้ำหนักที่ค่อย ๆ เข้มขึ้นตามลำดับ การร่างภาพที่ดี / ถูกต้อง ช่วยให้หาตำแหน่งที่จะบรรจุน้ำหนักได้ง่ายขึ้น ยิ่งใส่น้ำหนักได้ครบถ้วนเท่าใด ภาพจะปรากฎเป็นรูปทรงที่ถูกต้อง และเป็นจริงตามธรรมชาติเท่านั้น

         ให้เวลากับการมอง และการแรเงา (คือการระบายน้ำหนักอ่อน - แก่ด้วยดินสอ) ควบคุมน้ำหนัก หนัก-เบาของมือ ให้ดำเนินไปอย่างผ่อนคลาย ต่อเนื่อง ไม่รีบเร่ง ไม่คาดคั้น ไร้ความกดดันใด ๆ และจะพบว่าน้ำหนักนั้นสามารถลบตัวของมันเองได้โดยไม่ต้องพึ่งยางลบ น้ำหนักที่เข้มกว่า จะทับลงบนน้ำหนักที่อ่อน จะบีบและเบียดน้ำหนักอ่อนจนทำให้เกิดเป็นรูปทรง (สังเกตกิ่งไม้ที่มีน้ำหนักผลักจากข้างหลัง)

         ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากเบื้องต้นก็สามารถถูกแก้ไขไปเรื่อย ๆ เส้นร่างในตอนแรกก็จะค่อย ๆ หายไป ด้วยน้ำหนักที่เข้มกว่านั่นเอง

         ในภาพจึงชัดเจนขึ้นถูกต้องขึ้น พร้อมกันทั่วทั้งภาพ คล้ายการอัด-ขยายภาพถ่ายในห้องมืด ภาพจะค่อย ๆ ชัดขึ้นตามเวลาที่ภาพถูกแช่อยู่ในน้ำยา ในการวาดภาพก็มีลักษณะเดียวกัน

         และเมื่อมาถึงขั้นตอนสุดท้าย คือ การเน้นจุดสนใจหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งของภาพที่ผู้วาดอยากให้มันน่าสนใจก็ทำได้โดยเพิ่มน้ำหนัก เพิ่มรายละเอียดในกลุ่มนั้น เพื่อเน้นให้ชัดเจนขึ้นพิจารณาดูน้ำหนักที่ยังขาดหายไป การใช้เส้นก็จะเกิดขึ้นในช่วงท้ายนี้

         ระยะของภาพก็จะเกิดขึ้น โดยปล่อยให้ระยะที่ไกลได้ไกลออกไป ทำระยะที่ใกล้ให้ใกล้ขึ้น ตรวจสอบได้โดยเพ่งมองไปในกลุ่มที่ต้องการเน้นให้ชัด และในกรอบสายตาเดียวกัน ก็จะเห็นสิ่งที่อยู่ข้างหลังลางเลือนออกไป ตามระยะ ตามความเป็นจริง

         เมื่อได้ลองทำ ก็จะพบปัญหาข้อข้องใจอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น คือ ผลดี เพราะกระบวนการ การเรียนรู้เริ่มเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติ แล้วนำสิ่งที่สงสัยมาพิจารณาเพื่อทำความเข้าใจต่อไป การฝึกฝนการวาดภาพก็จะดำเนินไปสู่เป้าหมายของตัวมัน

         และการได้เรียนรู้จากความเป็นจริงในธรรมชาติจะไม่ทำให้ผู้ใดหลงทาง