วาดเส้น 2
การพิจารณาผลส้ม
( น้ำหนัก 9 ระยะ )

        อันดับขั้นตอนในการถ่ายทอดความเข้าใจเรื่องการเขียนภาพด้วยวิธีเขียนนั้น ทำได้ยากกว่าการถ่ายทอดด้วยคำพูดในการพูดคุยเชิงอธิบาย ที่จะมีการยกตัวอย่าง สอบถามเฉพาะเจาะจงในสิ่งที่สงสัยชี้มองในส่วนที่ควรเห็น และการพูดเรื่องการเห็นจะไม่ประสบผล ถ้าผู้อ่านไม่ยอมมองและเห็นด้วยสายตาของตัวเอง

        มากไปกว่าการมองเห็น นั่นคือ การพิจารณาน้ำหนักอ่อน-แก่ ในธรรมชาติเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องใช้การสังเกต และความเข้าใจพิจารณาประกอบกันไป

        การวาดภาพ คือ การถ่ายทอดน้ำหนักแสง-เงา ที่เป็นจริงอยู่ในธรรมชาติลงบนกระดาษผิวระนาบ

        เมื่อผลส้มวางอยู่เบื้องหน้า ท่ามกลางแสงที่สว่างพอที่จะทำให้เห็นรูปทรงของมัน ในสายตาของจิตรกรจะพบว่า ความกลมนั้นไม่ใช่กลมอย่างเส้นวงกลม เส้นรอบวง แม้จะวาดผลส้มเพียงเส้นดินสอเส้นเดียว ในเส้นนั้นจะมีน้ำหนักอ่อนแก่ แตกต่างกันไปแต่ละด้านของมันตามภาวะที่ถูกแสง

        หากเราลองลากเส้นไปตามรูปทรงด้วยน้ำหนักอ่อน-แก่ตามความเป็นจริง เส้นนั้นจะให้ความรู้สึกถึงความกลมของผลส้มนั้น อันหมายถึง มวล (mass) ของปริมาตรของสิ่งนั้น ๆ ได้

        เมื่อพิจารณา เราจะพบว่า แสง-เงาในธรรมชาติ มีน้ำหนักอ่อนแก่ที่ละเอียดเพียงใด

        น้ำหนัก 9 ระยะ
        น้ำหนักในธรรมชาติ ถูกแบ่งกว้าง ๆ ออกเป็น 3 กลุ่ม ในแต่ละกลุ่มถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ เรามาดูกัน
        กลุ่มที่ 1 น้ำหนักของแสง
        กลุ่มที่ 2 น้ำหนักของสีวัตถุ
        กลุ่มที่ 3 น้ำหนักของเงา

        กลุ่มที่ 1 น้ำหนักของแสง
        ระยะที่ 1 แสงสะท้อน (Hi light)
        ระยะที่ 2 น้ำหนักขาว
        ระยะที่ 3 เงาของน้ำหนักขาว

        กลุ่มที่ 2 น้ำหนักของสีวัตถุ หรือน้ำหนักกลาง
        ระยะที่ 1 สีวัตถุที่ถูกแสง
        ระยะที่ 2 สีวัตถุ
        ระยะที่ 3 เงาของวัตถุ

        กลุ่มที่ 3 น้ำหนักของเงา
        ระยะที่ 1 เงามัว
        ระยะที่ 2 เงามืด
        ระยะที่ 3 น้ำหนักดำ

        เขียนแล้วดูวิชาการยังไงไม่รู้ แต่จำเป็นต้องแบ่งแยกแยะออกมาเพื่อความเข้าใจ ในการนำไปพิจารณาน้ำหนักของวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม เรื่องของน้ำหนักมีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นพื้นฐานที่จะทำให้เข้าใจเรื่องรูปทรง ระยะ และที่สำคัญที่สุด คือ ความเข้าใจเรื่องสี

        โดยทั่วไป แสงสะท้อนจะพบในวัตถุที่มีความมันวาว เช่น กระจก เครื่องแก้ว เครื่องเซรามิค โลหะ และอื่น ๆ ในธรรมชาติ เราจะพบแสงสะท้อนจากสิ่งต่างๆ มากมาย เช่น ท้องน้ำ กลุ่มเมฆ และจากการสังเกตก็พบว่า ในใบไม้ก็สามารถเกิดแสงสะท้อนได้ ซึ่งสำคัญและน่าสนใจมาก โยงใยไปถึงเรื่อง สีของบรรยากาศ และภาวะของแสง ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดในโอกาสต่อไป

        เมื่อเข้าใจว่า น้ำหนักในธรรมชาติถูกแบ่งออกตามระยะต่าง ๆ มากมายอย่างนี้ จึงต้องใช้ความสังเกตอย่างยิ่ง ในขณะของการวาดภาพ เพื่อจะถ่ายทอดน้ำหนักเหล่านั้นออกมาบนกระดาษ

        ขั้นตอนแรกเราจะตัดเรื่องสี การใช้สีออกไปก่อนมาทำความเข้าใจเรื่องน้ำหนักเพียงอย่างเดียว คือน้ำหนักของขาว-ดำ แม้วัตถุตรงหน้าจะเป็นสีอะไรก็ตาม เราจะมองสีของวัตถุนั้นเป็นแค่เพียงน้ำหนักเท่านั้น

        เช่น ผลส้มซึ่งมีสีเขียวเมื่อถูกแสง จะมองน้ำหนักทั้งหมดที่ปรากฏบนผลส้ม แล้วถ่ายทอดน้ำหนักออกมาด้วยน้ำหนักของขาว-ดำด้วยดินสอบรรจุน้ำหนักที่เห็นจนครบถ้วนตามตำแหน่งของแสง-เงานั้นตามส่วน โค้ง-กลมของส้มที่ปรากฏ

        เริ่มต้นด้วยการร่างด้วยดินสออย่างแผ่วเบาแล้วค่อยเพิ่มน้ำหนักเข้าไป ตามลำดับของระยะจากระยะแรกจนถึงระยะที่ 9 ให้ผลส้มนั้นประกอบไปด้วยน้ำหนักอันครบถ้วนทั้ง 3 กลุ่ม

        วิธีเดียวที่จะทำให้บรรลุผลในการฝึกหัด คือ การลงมือทำ ในระหว่างทางของการได้เห็น และลงมือทำ ในระหว่างทางของการได้เห็น และลงมือทำผู้ฝึกจะพบกับปัญหาและข้อสงสัยต่าง ๆ เกิดความสับสน ไม่แน่ใจ ลังเล ไม่กล้า หรืออะไรก็ตามนั่นคือ คุณค่าจากการได้ฝึกฝน ซึ่งมีสาระสำคัญมากในการเรียนรู้สำคัญกว่าภาพที่วาดออกมาแล้วเป็นที่พอใจหรือไม่พอใจ

        ในการฝึกหัด ไม่ควรเอาความต้องการ ความพอใจจากภาพที่ปรากฎออกมาเป็นเครื่องวัด และไม่ควรประเมินหรือตัดสินผลงานของตัวเอง เนื่องด้วยความเข้าใจในหลักการกับสิ่งที่ทำได้จริงเป็นคนละเรื่องกัน การเขียนภาพต้องอาศัยสิ่งที่ได้จากการได้ลองเขียน ลองทำ คือ เครื่องชี้บอกถึงพัฒนาการและข้อควรปรับปรุงในโอกาสต่อ ๆ ไป โดยนำความเข้าใจที่ได้มาช่วยพิจารณา

        การคาดหวังในงานอาจทำให้รู้สึกท้อแท้โดยไม่จำเป็น การประเมินงานของตัวเองอย่างไม่เข้าใจอาจทำให้เกิดความสับสนหรือผิดทาง ขอให้มองแล้วพิจารณาถ่ายทอดน้ำหนักเหล่านั้นไปตามที่ตาเห็นเท่านั้น

        และผมมักจะบอกกับนักเรียนของผมเสมอว่า ภาพที่เกิดขึ้น มันจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น เป็นเรื่องของมัน เพราะเราต้องการเพียงการทอลอง ทดสอบการเห็น ใช่จะมาสร้างผลงานชิ้นเอกในขณะการเรียนรู้